ภาวะ เบาหวาน ระหว่างตั้งครรภ์ ดูแลและควบคุมได้เพื่อสุขภาพครรภ์

คุณแม่ที่กำลัง ตั้งครรภ์ หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับภาวะ เบาหวาน ระหว่าง ตั้งครรภ์ กันมาบ้างแล้วนะคะ การเป็นเบาหวานระหว่าง ตั้งครรภ์ (gestational diabetes) คือเบาหวาน ที่ตรวจพบในคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะพบในช่วงประมาณ 20 สัปดาห์ขึ้นไปของการตั้งครรภ์ค่ะ แต่ไม่ต้องตกใจไปนะคะ เพราะสัดส่วนของคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีสัดส่วนเพียง 2% ของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ทั้งหมด อีกทั้งหากพบว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ การดูแลตัวเองและควบคุมระดับน้ำตาลร่วมกับการไปพบคุณหมออย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัยคะ

สาเหตุของการเป็นเบาหวานในขณะตั้งครรภ์

สาเหตุที่ทำให้คุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่จะคล้ายๆ กับสาเหตุของการเกิดเบาหวานทั่วไป เช่น

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน
  • อายุเพิ่มขึ้น คุณแม่ที่ตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงมากขึ้น
  • ความอ้วน (ดัชนีมวลกายหรือ BMI มากกว่า 25 กก./ ตร.ม.)
  • มีประวัติความดันโลหิตสูง หรือไขมันในเลือดสูง

การตั้งครรภ์ก็อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกันคะ เนื่องจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลายชนิดที่เพิ่มขึ้น เช่น growth hormone, steroid hormone ซึ่งออกฤทธิ์ต้านอินซูลิน จึงทำให้คุณแม่มีน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคเบาหวาน

เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่แล้วจะไม่มีอาการบ่งบอกของโรค จะทราบได้ก็ต่อเมื่อเข้ารับการตรวจคัดกรอง ซึ่งสูตินรีแพทย์จะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงและกำหนดเวลาที่ควรตรวจคัดกรอง สำหรับในคุณแม่ที่มีความเสี่ยงมาก เช่น มีประวัติคนครอบครัวเป็นเบาหวาน มีน้ำหนักเกินตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ หรือมีอายุ 30-35 ปี ก็อาจได้รับการตรวจคัดกรองตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์ ส่วนคุณแม่ที่มีความเสี่ยงไม่มากนักก็อาจได้รับการตรวจคัดกรองตามเวลาที่มีโอกาสเป็นสูง เช่น ตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป หรือในช่วง 24-28 สัปดาห์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรีบพบคุณหมอและฝากครรภ์ทันทีที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ เพื่อจะได้อยู่ในความดูแลของคุณหมอย่างใกล้ชิดกันนะคะ

 

วิธีการตรวจคัดกรองเบาหวานในขณะตั้งครรภ์

ในเบื้องต้นคุณหมอจะให้รับประทานน้ำตาล 50 กรัม glucose challenge test ซึ่งไม่จำเป็นต้องอดอาหารมาก่อน แล้วเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล ถ้าได้ค่าเกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ ต้องทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธี glucose tolerance test (GTT) โดยการรับประทานน้ำตาลขนาด 75 กรัม หรือ 100 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังรับประทานน้ำตาล 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมง และ 3 ชั่วโมง ถ้าค่าที่ได้สูงเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็จะวินิจฉัยได้ว่าคุณแม่เป็นเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ค่ะ

 

วิธีการรักษาอาการเบาหวานในขณะตั้งครรภ์

หากวินิจฉัยแล้วพบว่าคุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ก็ต้องทำการรักษา ลำดับแรกคุณหมอจะใช้วิธีการควบคุมอาหารคะ (แต่ไม่ใช่การอดอาหาร) โดยให้ลดอาหารประเภทแป้งและหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน น้ำอัดลม ข้าวเหนียว นมเปรี้ยว โยเกิร์ตที่มีรสหวาน น้ำผลไม้ เป็นต้น นักโภชนาการจะสามารถให้คำแนะนำคุณแม่เกี่ยวกับสัดส่วนของอาหารที่เหมาะสมได้ดีค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วยการควบคุมอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการรักษาด้วยยาค่ะ

 

นอกจากการควบคุมอาหารแล้ว สิ่งที่ทำควบคู่กันไปคือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลด้วยตนเองอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน คือ หลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมงและ 2 ชั่วโมง (ตามที่คุณหมอกำหนด) โดยระดับน้ำตาลที่เหมาะสมหลังรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงไม่ควรเกิน 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

 

หากการควบคุมอาหารแล้วแต่ยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ก็จำเป็นต้องรักษาด้วยยาค่ะ ด้วยการใช้อินซูลินแบบฉีด ซึ่งอินซูลินจะมีขนาดโมเลกุลใหญ่ ไม่สามารถผ่านรกไปถึงลูกได้ นอกจากนี้เข็มที่ใช้ในการฉีดอินซูลินมีขนาดเล็ก ไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและไม่ถึงตัวลูกน้อยในครรภ์ จึงมีความปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยยาต้องอยู่ในความดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิดนะคะ

 

การควบคุมอาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ดังนั้นคุณแม่จึงควรให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารในขณะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ จากระดับน้ำตาลในเลือดสูงที่อาจเกิดขึ้นกับทั้งคุณแม่และลูกน้อย เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์และคลอดลูกน้อยออกมาได้อย่างปลอดภัยที่สุดค่ะ

Comments are closed.