เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยยังคงมีความผันผวนและภาวะเศรษฐกิจก็ยังมีความไม่แน่นอน จากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง บริษัทเล็กและบริษัทใหญ่ ก็ย่อมมีความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อผยุงให้อยู่ได้นั้น บางบริษัทก็มักจะเลือกวิธีลดคนงาน ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะได้เงินชดเชยจากการออกจากงาน แต่ก็ยังคงทำให้เราคลายกังวลไม่ได้ว่าเงินก้อนที่ได้มาจะเพียงพอไปจนถึงเมื่อไหร่กัน และที่สำคัญ คือเราจะได้งานใหม่เมื่อไหร่ และเริ่มทำอย่างไรดี หลายคนที่เจอสถานการณ์นี้กับตัวเอง อาจจะเคว้งไปบ้าง วันนี้แม่แอร์มีคำแนะนำสั้นๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์ให้ลองทำดูดังนี้นะคะ
1. การแบกรับความผิดหวังและความเครียดเป็นเรื่องที่หนักเอาการ แต่จะดีซะกว่าหากเราไม่แสดงอาการท้อแท้สิ้นหวังให้ลูกเห็น เพราะว่าเด็กสามารถสัมผัสได้ และเค้าเองจะรู้สึกไร้ประโยชน์ที่เค้าไม่สามารถช่วยอะไรเราได้เลย ทางที่ดีเราควรหันหน้าปรึกษากันระหว่างสามีภรรยา หรือครอบครัว แต่แสดงความเข้มแข็งให้ลูกเห็นนะคะ
2. ไม่แสดงความอ่อนแอ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องปิดบัง พ่อแม่สามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงได้ การปิดบังไม่มีผลดีอะไรเลยค่ะ ลูกมีโอกาสที่จะได้รับรู้และเรียนรู้ด้วยว่า บริษัทที่ดูมั่นคง หน้าที่การงานที่มั่นคง สักวันนึงก็อาจประสบปัญหาได้ ด้วยเหตุผลความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง เป็นเรื่องดีที่พ่อแม่จะแทรกข้อคิดทางธุรกิจให้ลูกฟัง ที่สำคัญคือต้องไม่ทำให้ลูกคิดว่ามันคือความผิดของพ่อแม่ หรือของใคร
3. ถ้าใจคุณแข็งแรง ลูกคุณก็จะมีจิตใจที่แข็งแรง ไม่มีอะไรดีไปกว่าการสำรวจตัวเอง ยอมรับตัวเอง และอยู่กับปัจจุบัน อาจจะเป็นเรื่องยากนะคะ แต่คนที่ประสบปัญหาต้องฝึกคิดที่จะยอมรับปัจจุบันบ่อยๆ ลองหันมามองลูกน้อย แล้วคิดว่าเราต้องลุกขึ้นมาแข็งแรงเพื่อเป็นตัวอย่างให้เค้านะคะ
4. คิดบวก ไม่ใช่เราเป็นคนเดียวในโลกที่ตกงานเมื่อไหร่กัน ไม่ใช่คนที่แย่ที่สุดบนโลกใบนี้ซะหน่อย คิดดูสิ เรายังสามารถใช้อินเตอร์เน็ท เปิดมือถือ อ่านบทความอันนี้ได้ ในขณะที่หลายๆ คนที่อยู่ในถิ่นกันดารไม่มีโอกาสได้รับข่าวสาร หรือข้อมูลที่จะช่วยเค้าได้เลย นอกจากต้องช่วยเหลือตัวเองเพียงอย่างเดียว และอีกหลายคนในท้องถนนข้างนอกนั่นก็ยังดำเนินชีวิตอยู่ด้วยการต่อสู้ไม่ต่างจากเรา
5. เริ่มต้นใหม่ เพราะทุกการสิ้นสุดของสิ่งๆ หนึ่ง คือการเริ่มต้นของสิ่งใหม่เสมอ ไม่มีใครรู้นะคะ มันอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตเราดีกว่าเดิมก็ได้ ฮึด.. ฮึด.. สู้ค่ะ!!
6. วางแผน และ วางแผน จากเดิมที่เราอาจจะเคยทำตารางรายรับรายจ่าย หรือวางแผนการใช้เงินไว้ เพื่อลดความกังวล ให้ทำจนกลายเป็นสิ่งจับต้องได้ แนะนำว่าให้ทำตารางแบบละเอียดยิบ หากมีเงินก้อนที่จำเป็นต้องเตรียมใช้ ให้หารซอยออกมาเลยว่าจะต้องเตรียมเดือนละเท่าไหร่ และชักชวนคู่ชีวิตหรือคุณสามีเรามาร่วมวางแผนด้วยกันคะ แน่นอนว่าสถานการณ์นี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น การโทษฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เราควรจะให้กำลังใจและจับมือสู้ไปด้วยกันนะคะ
ท้ายที่สุดนี้ เคล็ดลับง่าย ๆ ก็คือนึกถึงรอยยิ้มรอยยิ้มกว้างอบอุ่นของเจ้าตัวน้อยตลอดเวลาค่ะ เป็นกำลังใจได้ดีทีเดียว.. สู้ๆ นะคะ ทุกอย่างในชีวิต จะดี จะร้าย จะกลางๆ มันก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว ความทุกข์ก็เช่นกัน เดี๋ยวมันก็ผ่านไปค่ะ