ที่นอนมีผลอย่างมากต่อสุขภาพของผู้นอน ไม่ว่าบ้านจะสะอาดเพียงใด เราก็ต้องแบ่งเตียงกับไรฝุ่นเป็นล้านๆ ตัวซึ่งมีชีวิตอยู่ได้จากการกินผิวหนังที่ตายแล้วของเรา เชื่อหรือไม่ว่าเราใช้เวลาอย่างน้อย 1 ใน 3 ของชีวิตอยู่อยู่บนที่นอนดังนั้นเราควรใส่ใจในเรื่องที่นอนให้มาก “ไรฝุ่น” ต้นเหตุสําคัญของการก่อโรคภูมิแพ้และผื่นภูมิแพ้ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่จะมองข้ามภัยใกล้ตัวที่ซ่อนอยู่ในที่นอนไปคงจะไม่ได้ บ้านเราสภาพอากาศเป็นเมืองร้อน ที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคและมลภาวะรอบตัว อย่างที่ทราบในปัจจุบันรอบตัวเรามีมลพิษมากมาย ไม่ว่าจะเป็นควันไอเสียความร้อน มลพิษที่เกิดจากรถยนต์ ควันบุหรี่ ตลอดจนฝุ่นละออง ไรฝุ่น แบคทีเรีย เชื้อราและเชื้อโรคต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา สิ่งเหล่านี้เป็นตัวการก่อให้เกิดภูมิแพ้ทั้งนั้นค่ะ ตัวการใหญ่คือตัวไรฝุ่นที่ชอบอยู่ในที่อุ่น ชื้น และเต็มไปด้วยฝุ่นละออง ในบ้านของเรานิเองแหละที่อยู่ของมัน ใกล้ตัวมากและส่วนใหญ่จะพบได้ในห้องนอนค่ะ ตัวไรฝุ่นชอบอาศัยอยู่ที่ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน หมอนหนุน ผ้าห่ม ผ้าเช็ดตัว พรม เฟอร์นิเจอร์ผ้าและตุ๊กตาของเล่น ปัจจุบันอย่างที่ทราบเรามีผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ตัวแม่แอร์เองก็เป็นภูมิแพ้อยู่แล้วและในฐานะแม่นอกจากต้องดูแลตัวเองแล้วก็ต้องดูแลลูกน้อย เจ้าตัวเล็กอีก 2 คน ให้ปลอดฝุ่นด้วย ให้บ้านปลอดสารก่อภูมิแพ้ค่ะ เพื่อตัวเองและคนที่เรารักค่ะ “ไรฝุ่น” ป้องกันยังไง? ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจวงจรชีวิตของมันก่อนกันค่ะ…
“ไรฝุ่น” (dust mite) มีขนาดเล็กมากมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เป็นสัตว์จำพวกแมลง มีขา 8 ขา ไม่มีตา ตัวไรฝุ่นไม่สามารถกัดคนได้ วางไข่คราวละ 20 – 50 ฟอง 3 สัปดาห์/ครั้ง ระยะฟักตัว 8 – 12 วัน แต่ละตัวมีอายุ 2 – 4 เดือน สามารถปะปนอยู่กับฝุ่นตามพื้นบ้าน ห้องนอน ที่นอน หมอน พรม และเครื่องเรือนต่างๆ โดยชอบอาศัยในที่อับชื้น และอบอุ่น อาหารของไรฝุ่นคือเซลล์ผิวหนังของคน รังแค และเซลล์ผิวหนังของสัตว์เลี้ยงที่หลุดลอกออกมา จากนั้นก็จะถ่ายมูลไว้ในสถานที่ที่อาศัยอยู่ โดยเฉพาะบนเตียง หรือที่นอน ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของตัวไรฝุ่นและมูลของไรฝุ่น
ตัวไรฝุ่นเป็นสารก่อภูมิแพ้ตัวการสำคัญ ที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจ
อาการของโรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ไอ จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก คันตา หอบหืด ตาแดง น้ำตาไหลหายใจไม่สะดวก แน่น อึดอัด บวมในคอ เยื่อจมูกอักเสบ ผิวหนังอักเสบ บางทีลุกลามกลายเป็นผดผื่นขึ้นที่ผิว ความจริงสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ไว้ เมื่อไรฝุ่นได้กินอาหาร เติบโต มีการขับถ่ายมูล หลั่งเมือกระหว่างที่ตกไข่ และลอกคราบ สิ่งที่หลงเหลือจากตัวไรฝุ่นทั้งสารจากตัวมัน เปลือกมัน เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคแพ้อากาศและโรคหอบหืด หากผิวของลูกได้ไปสัมผัสกับจุดที่หมักหมมก็อาจทำให้เกิดเป็นผื่นแดงขึ้นที่ผิวของลูกได้ เรียกว่า ผื่นภูมิแพ้จากไรฝุ่น เศษฝุ่นเล็กๆ เกิดจากไรฝุ่นก็จะฟุ้งกระจายออกมาเวลาลูกเล่นบริเวณนั้น ซึ่งเศษฝุ่นนี้จะมีขนาดเล็กมาก เล็กเกินกว่าที่ขนจมูกจะดักจับไว้ได้ ไรฝุ่นสามารถเล็ดลอดเข้าไปในระบบหายใจ แล้วสะสมอยู่ในปอดของเราค่ะ
ว่ากันว่าในฝุ่นบ้าน 1 กรัม สามารถพบไรฝุ่นได้ถึง 500 ตัว ในหมอนเก่าๆ และที่นอนที่ใช้ไปนานๆ มีการคำนวณกันว่า น้ำหนัก 1 ใน 10 ของหมอนเก่าอายุ 6 ปี มาจากไรฝุ่นและมูลของไรฝุ่น ในที่นอน 1 หลัง มีไรฝุ่นอาศัยอยู่ประมาณ 2 ล้านตัว จะว่าไปแล้วยิ่งที่นอนเรามีขนาดหนาและใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งมีไรฝุ่นมากขึ้นเท่านั้น และมูลของไรฝุ่นก็สามารถฟุ้งกระจายได้ง่าย สามารถลอยเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจของเราในขณะนอนหลับ ไรฝุ่นนี่แหละที่ทำให้เราเกิดอาการภูมิแพ้กำเริบขึ้นมา รู้ข้อมูลขนาดนี้แล้ว รู้สึกว่าที่นอนของตัวเองเหมือนสวนสัตว์ที่กลายเป็นบ้านของสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว แอบน่ากลัวนะเนี่ย สรุปว่าเจ้าตัวไรฝุ่นนี่มันไม่มีดีเอาซะเลยค่ะ ไรฝุ่นที่อยู่ในบ้านนั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพเราอย่างยิ่ง
ไรฝุ่นมาอยู่กับเราได้อย่างไร?
เนื่องจากเจ้าตัวไรฝุ่นนั้นมีขนาดเล็กมาก มันจึงสามารถติดมากับนก หนู สัตว์เลี้ยงภายในบ้าน ตลอดจนทางอากาศ จากลมที่พัดมา หรืออาจติดมากับเสื้อผ้าของผู้ที่แวะมาเยี่ยมเยียนก็ได้
สำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างที่ทราบสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูเด็กมีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งบ้านไหนมีเด็กอ่อนหรือเด็กทารก ในช่วงเวลาขวบปีแรกนั้นสำหรับลูกน้อยยิ่งสำคัญ ต้องยิ่งขยันทำความสะอาด เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย หากเด็กวัยนี้ได้สัมผัสควันบุหรี่ ไรฝุ่น รับประทานอาหารสำเร็จรูป รับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ หรือยาปฏิชีวนะ ก็จะทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้มากขึ้นค่ะ อย่างที่บอกเราใช้เวลาอย่างน้อย 1 ใน 3 ของชีวิตอยู่บนที่นอน ภัยใกล้ตัวที่ซ่อนอยู่ในที่นอนนั้นมองข้ามไม่ได้ เราควรต้องป้องกันและกำจัดมันออกไป บ้านสะอาด น่าอยู่ ลูกน้อยและคนในครอบครัวของเราก็สุขภาพดีค่ะ
เรื่องบนเตียงนอกจากเจ้าตัวไรฝุ่นแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เราต้องดูแลค่ะ เช่น คราบน้ำลาย คราบเหงื่อไคล คราบมันของผลิตภัณฑ์ใส่ผม ที่สกปรกหมักหมมอยู่บนหมอนหรือเตียงของเรา ยิ่งบ้านไหนมีเด็ก ๆ และลูกน้อยชอบฉี่รดบนที่นอน ตลอดจนคราบน้ำนมที่หกบนที่นอน กลิ่นฉี่และกลิ่นอับชื้นต่างๆ อาจจะติดสะสมอยู่บนเตียง สิ่งเหล่านี้ก็เป็นอีกตัวการที่ทำให้เราเจ็บป่วยค่ะ
Blog หน้าแม่แอร์จะพูดถึง การป้องกันและกำจัดไรฝุ่นอย่างไร ? การทำความสะอาดเตียง การดูแลเตียงนอนและวิธีป้องกันที่นอนให้ปราศจากไรฝุ่น ทำอย่างไรแบบไหนได้บ้าง คอยติดตามอ่านกันค่ะ
ข้อมูล:รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี