จากกระแสชื่นชมและแชร์เรื่องราวสุดประทับใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองที่ได้ช่วยเหลือคุณแม่รายหนึ่งซึ่งกำลังจะทิ้งนมแม่ เนื่องจากน้ำหนักเกิน ต้องจ่าย 2,400 บาท เลยจะตัดใจทิ้งลังโฟมนมแม่ลังนั้น โชคดีที่มีเจ้าหน้าที่สนามบินดอนเมืองได้ช่วยเหลือเอาไว้จนไม่ต้องทิ้งลังนมดังกล่าว ในฐานะแม่คนหนึ่งที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เหมือนกัน คือจะบอกว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นแม่แอร์ก็ไม่อยากจะทิ้งนมที่เราอุตสาห์นั่งปั๊ม อดหลับอดนอนมา รู้สึกดีมากที่มีคนในสังคมใส่ใจให้ความสำคัญและเข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากประเด็นตรงนี้แม่แอร์เลยถือโอกาสหาข้อมูลให้บรรดาคุณแม่ทั้งมือใหม่และมือเก่ามาทำความเข้าใจกันว่าจริงๆ แล้วการนำนมแม่ขึ้นเครื่องนั้นทำได้รึไม่ อยากให้อ่านและทำความเข้าใจประเด็นนี้ในทุกๆ มุมมอง ในฐานะที่แม่แอร์เคยเป็นพนักงานของสายการบินมาก่อนเช่นกัน
ก่อนอื่นเลยมารู้จักกฏและข้อมูลด้านความปลอดภัยของสนามบินกันก่อน บอกได้เลยว่ากฏของแต่ละสนามบินของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน บางทีกฏก็ไม่เหมือนกันค่ะ บล็อกนี้จะพูดถึงการถือของเหลวขึ้นเครื่องบิน ในเรื่องมาตรการจำกัดปริมาณของเหลวขึ้นเครื่องบิน บอกได้เลยว่า ประเด็นเรื่องมาตรการจำกัดของเหลวขึ้นเครื่องบินนั้นเป็นกฏรักษาความปลอดภัยของสนามบินหรือทางการท่า ไม่เกี่ยวกับสายการบินแต่อย่างใด ซึ่งแต่ละสายการบินนั้นจะปฏิบัติตามกฏรักษาความปลอดภัยของของสนามบินหรือทางการท่านั้นๆ อีกที ทีนี้เรามาดูรายละเอียดของมาตรการจำกัดของเหลวขึ้นเครื่องบินกัน ในภาพนี้เป็นของสนามบินสุวรรณภูมิ จากข้อมูลของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด
การตรวจค้นกระเป๋าสัมภาระเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานหรือสนามบินทุกๆ สนามบิน
อ่านกันรึยังค่ะ? ผู้โดยสารทุกคนที่จะเดินทางโดยสายการบินทั้งในและนอกประเทศจะต้องเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจค้น และกระเป๋าสัมภาระทุกๆ ใบจะต้องถูกตรวจหรือสแกนก่อนขึ้นเครื่องบิน จะเห็นได้ว่าของเหลวจำพวก เจล และสเปรย์ทุกชนิด ต้องบรรจุในภาชนะที่มีขนาดความจุไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ถึงจะถือขึ้นเครื่องบินได้ สำหรับภาชนะที่เกิน 100 มิลลิลิตร แม้จะบรรจุของเหลว เจล และสเปรย์ เพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำติดตัวขึ้นเครื่องบินได้ อันนี้ก็แนะนำว่าเราควรที่จะแพ็คและโหลดใต้เครื่องบินค่ะ ซึ่งตรงนี้ผู้โดยสารควรที่จะทราบและแพ็คจัดเก็บไว้ในกระเป๋าเดินทางตั้งแต่ต้นก่อนมาทำการ Check in ได้อ่านแล้วจะเห็นได้ว่ามีของเหลวที่ได้รับการยกเว้นอยู่เหมือนกัน ได้แก่ นม และอาหารสำหรับเด็กทารกในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงยาที่มีเอกสารกำกับชัดเจน ซึ่งตรงนี้ก็อยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้น จุดนั้นๆ ว่าจะอนุญาตให้ผ่านจุดตรวจค้น เพื่อไปขึ้นเครื่องบินหรือไม่ ถ้าทางเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้น นั้นๆ อนุญาตทางสายการบินก็ปฏิบัติตามและอนุญาติให้นำขึ้นเครื่องได้ ตรงนี้จากประสบการณ์ถ้าเป็นนมแม่แค่เพียงไม่กี่ถุงในกระเป๋าเล็กๆ น้ำและนมของลูกในปริมาณที่เหมาะสมและเดินทางภายในประเทศส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหาเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้น จะอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องได้ สำหรับไฟล์ต่างประเทศแต่ละประเทศจะมีกฎ การนำของเหลว ขึ้นเครื่องแตกต่างกัน ผู้โดยสารควรสอบถามข้อมูลตรงนี้จากสายการบินดูก่อน
ยกตัวอย่างเคสที่เพิ่งเกิดขึ้น คุณแม่มีนมมาเป็นลังเลย 60 ถุง พอถึงจุดตรวจค้นได้อ่านจากข่าวเหตุการณ์แล้วคิดว่าเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้นจุดนั้นอนุญาตให้ผ่านขึ้นเครื่องได้ เพราะเห็นว่าเป็นนมแม่ ซึ่งทำไปเพราะความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และคงเห็นว่านมที่ผู้โดยสารใส่ลังมาเป็นนมแม่จริงๆ แต่ก็ไปติดที่น้ำหนักเกิน ซึ่งตรงนี้บอกเลยก็ไม่ใช่คุณแม่ทุกคนที่มีนมแม่ๆ เป็นลังๆ จะนำขึ้นเครื่องได้เสมอไปนะคะ มันมีกฏซึ่งต้องอยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้นจุดนั้นๆ ว่าจะอนุญาตให้ผ่านหรือไม่ผ่านอีกเช่นกัน ก็เคยมีคุณแม่บางท่านก็ไม่สามารถนำนมแม่ขึ้นเครื่องได้มาก่อนก็มี ถ้าจะว่าไปแล้วในมุมมองด้านการรักษาความปลอดภัยเจ้าหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติตามหน้าที่เค้า สำหรับคุณแม่บางท่านที่เคยถูกเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้นไม่อนุญาตให้นมแม่ผ่านขึ้นเครื่อง คือต้องทำความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ ณ จุดตรวจค้นหรือเจ้าหน้าที่การท่านั้นเค้าก็ปฎิบัติทำตามกฏจริงจัง มองอีกมุมก็คือ ไม่ใช่ว่าของเหลวสีขาวๆ ขุ่นๆ ที่ใส่มาเป็นแพ็คแช่แข็งมันจะต้องเป็นนมแม่เสมอไป ถ้าคิดในแง่ร้ายๆ ถ้าเป็นคนร้ายล่ะ? แล้วทำแบบนี้เช่นกัน! เอาอะไรก็ไม่รู้มาใส่ในถุงนมแม่ซึ่งเป็นสีขาวๆ ขุ่นๆ เช่นกัน แล้วบอกว่าเป็นนมแม่ เรื่องนี้มันละเอียดอ่อนจริงๆ นะจะว่าไป แม่แอร์ไม่อยากดราม่า ความปลอดภัยของผู้โดยสารต้องมาก่อนใช่มะ! จริงๆ ถ้าจะให้ดีคือมันก็ควรที่จะมีมาตรการตรวจสอบนมแม่ของทางการท่านะ ตัวอย่างเช่น ณ จุดตรวจค้น คุณแม่ชิมนมแสดงให้ดู หรือจะมีอุปกรณ์ตัวตรวจสอบได้ แม่แอร์ก็ได้แค่ออกความเห็นเอานะ จากที่เขียนมาหวังว่าบรรดาคุณแม่จะเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น บางท่านไม่เข้าใจก็ว่าทางสายการบิน
การนำนมแม่ขึ้นเครื่องบิน
นมแม่ที่ผ่านจุดตรวจค้นมาแล้ว ทีนี้แหละเป็นหน้าที่ของสายการบินละ ว่าทางสายการบินของแต่ละสายการบินจะอนุญาตให้นำขึ้นเครื่องบินในปริมาณเท่าไร การถือนมแม่ขึ้นเครื่องทางสายการบินก็จะคิดน้ำหนักรวม ถ้าเป็นแบบ Hand Carry ก็ขึ้นอยู่แต่ละสายการบินนะคะ ตรงนี้ก็ประมาณไป 7 kg. ค่ะ (แอร์เอเชีย) นมแม่ที่แช่แข็ง (นมแม่+น้ำแข็งแห้ง รวม 7 kg.) น้ำแข็งแห้งต่อคนได้ไม่เกิน 2.5 kg. (แอร์เอเชีย) น้ำหนักที่จะโหลดใต้เครื่องก็ขึ้นอยู่กับสิทธิ์น้ำหนักสัมภาระที่ตกลงตอนซื้อตั๋วของแต่ละสายการบิน โดยปกติทั่วไปก็จะอยู่ที่ประมาณ 30 kg. จะให้แน่ก็สอบถามกันมาก่อนกับทางสายการบินค่ะ ข้อควรทราบ น้ำแข็งแห้ง ถือเป็น DG คือ วัตถุอันตราย แต่ทางสายการบินก็อนุญาตให้ขึ้นเครื่องได้ในประมาณที่ทางสายการบินนั้นๆ กำหนด ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความเข้มงวดของแต่ละสายการบินนะคะ
วิธีปฎิบัติในกรณีนำนมแม่ขึ้นเครื่อง
- คุณแม่ต้องมี สัมภาระ+นมแม่ที่แช่แข็ง แล้วน้ำหนักไม่เกินกับสิทธิ์น้ำหนักสัมภาระที่ตกลงซื้อหรือที่สายการบินกำหนดไว้ (อย่าลืมเช็คน้ำหนักน้ำแข็งแห้งกับทางสายการบิน)
- แพ็คใส่กล่องโฟมให้เรียบร้อย
- น้ำแข็งธรรมดาถ้าแพคใส่กล่องโฟม ข้อมูลของทางสายการบินแอร์เอเชียเค้าไม่รับนะคะ รับเฉพาะน้ำแข็งแห้ง (อาหารสดแอร์เอเชียก็ไม่รับนะคะ) ส่วนสายการบินอื่นๆ น้ำแข็งธรรมดาที่แพ็คในกล่องโฟมรับรึป่าวแนะนำว่าต้องเช็คกับสายการบินค่ะ
- เตรียมอุปกรณ์ เช่น เช่นเทปกาว เชือก กรณีที่อาจจะต้องถูกเปิดตรงจุดตรวจค้น แล้วต้องแพ็คไปใหม่อีกรอบ (ระวังกรรไกรห้ามขึ้นเครื่องนะคะ)
- กรณีเดินทางไปต่างประเทศ อันนี้คุณแม่ต้องเช็คให้ดีๆ กับประเทศปลายทางค่ะ ลองโทรเช็คสอบถามกับทางสายการบินดูก็ได้ ว่าเค้าอนุญาติให้นมแม่เข้าประเทศหรือไม่ ตรงนี้การอนุญาตให้เข้าประเทศจะอยู่ที่ทางกรมศุลกากร (Customs Department) จากประเทศไทยอาจจะออกไปได้แต่ประเทศปลายทางอาจจะไม่อนุญาตก็ได้ อย่างที่บอกกฏของแต่ละสนามบินของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน คุณแม่อาจจะต้องทิ้งนมที่ปลายทางก็เป็นไปได้ ก็เผื่อใจ คิด และวางแผนเตรียมตัวไว้ด้วยนะคะ
หวังว่าข้อมูลคงจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณแม่ทุกท่านที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นะคะ สู้ๆ ค่ะ นมแม่ดีที่สุดจริงๆ ถ้าคุณแม่ท่านไหน งง สอบถามมาได้ค่ะ โดยทิ้งข้อความคอมเม้นไว้ที่ BLOG ได้ค่ะ
แม่แอร์ต้องขอบคุณ คุณเพื่อนทั้ง 2 คน สำหรับข้อมูลมาตรการความปลอดภัยของของสนามบินในเรื่องมาตรการจำกัดของเหลว จาก คุณเอ แผนก Safety สายการบินแอร์เอเชีย และคุณส้ม แผนก Ground Operations สายการบินแอร์เอเชียเอ็กซ์ค่ะ