Site icon ไลฟ์สไตล์คุณแม่สมัยใหม่ : blogger แม่และเด็ก

เมื่อเด็กถูกทำร้าย…เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด

ข่าวเด็กถูกครูทำร้ายทำแม่ปี๊ด อีกอารมณ์นึงคนเป็นแม่อย่างเรา ๆ รู้สึกหดหู่มากนะคะ มันตอกย้ำว่ามีการละเลยกันมานาน แม่แอร์คิดว่าโรงเรียนต้องเป็นที่ปลอดภัยสำหรับลูก ๆ ของเรา เช็คได้ตรวจสอบได้ว่าเค้าดูแลลูกเรายังไงบ้าง

ทีนี้มีเรื่องน่าห่วงตรง เมื่อเด็กถูกทำร้าย พ่อแม่กลับมาดูแลเอาใจใส่หรือไปปรึกษาจิตแพทย์ก็หายแล้ว จริงหรือเปล่า ยิ่งค้นข้อมูลยิ่งพบว่ามีผลร้ายเกิดขึ้นกับเด็กมากมายหลายด้านจนน่าตกใจ ถึงแม้จะไม่เหนือความคาดหมายก็ตาม

 

ผลเสียที่เกิดกับเด็กมีอะไรบ้าง

งานวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่า การที่เด็กถูกทำทารุณทางร่างกายหรือจิตใจก็ตามจะมีผลต่อพัฒนาการ มีผลต่อสมอง และอารมณ์ของเด็ก บาดแผลทางใจที่ได้รับมีโอกาสส่งผลยาวไปถึงตอนโตกันเลยนะ  

พัฒนาการของเด็กมีปัญหา

เป็นเรื่องน่าเศร้าค่ะเพราะในวัยอนุบาลหรือวัยเรียนนี้ เด็กที่ถูกทำทารุณกรรมจะได้รับผลกระทบหลายด้านทีเดียว

1. ทางร่างกาย  : พัฒนาการทางร่างกายช้า  อาจขาดทักษะ และการทำงานประสานกันระหว่างมือเท้าแขนขา เด็กอาจจะป่วยหรือมีโรคเรื้อรัง

2.สติปัญญาการรู้คิด : ความรู้ความเข้าใจของเด็กอาจไม่สมกับวัย คือเป็นเด็กเล็กกว่าอายุของเขา ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ขาดทักษะในการแก้ปัญหา คเด็กอาจแสดงรูปแบบการคิดตามแบบฉบับของเด็กที่อายุน้อยกว่ารวมถึงมุมมองที่เป็นศูนย์กลางขาดความสามารถในการแก้ปัญหาและไม่สามารถคิดอย่างเป็นระบบ

3.พัฒนาการด้านภาษา : การพูดหรือทักษะการใช้ภาษาอาจมีพัฒนาการช้ากว่าวัย

4.การเรียน : ไม่มีสมาธิในการเรียน เรียนรู้ได้ไม่ดี

5.อารมณ์ : ก้าวร้าว ขาดความยับยั้งชั่งใจ อาจทำอะไรหุนหันพลันแล่น ซึมเศร้า กลัว ขาด self-esteem รู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยกว่าคนอื่น ขาดความมั่นคงในจิตใจ

6.สังคม : เด็กเกิดความสงสัยไม่แน่ใจหรือไม่ไว้ใจผู้ใหญ่ เมื่อต้องการการปลอบโยนก็จะไม่ขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่ หรืออาจมีพฤติกรรมตรงข้าม เรียกร้องความสนใจมากเกินไป เฉยชาต่อคำชมหรือความสนใจในด้านบวกจากผู้ใหญ่ อาจทำให้มีอุปสรรคในการคบเพื่อน แยกตัวจากสังคม

 

สมองของลูกล่ะ

  1. เด็กที่ถูกทำร้ายเป็นเวลานานสมองส่วนหน้าบางส่วนจะถูกทำลาย สมองส่วนหน้านี้ทำหน้าที่คอยควบคุมความคิดและการกระทำค่ะ
  2. การสื่อสารระหว่างสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่คอยควบคุมกับส่วนอารมณ์จะถูกขัดขวาง เด็กจึงมีปัญหาเรื่องการยับยั้งชั่งใจ ระเบิดอารมณ์หรือทำตามอารมณ์โดยควบคุมไม่ได้
  3. ผลต่อสมองส่วนที่ทำหน้าที่ด้านความคิดด้านบริหารจัดการ การวางแผน การจัดลำดับความคิด การตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ทำให้การเรียนรู้มีปัญหา ไม่ใช้เหตุผล
  4. สมองส่วนที่ทำหน้าที่ตอบสนองต่อความเครียด ทำให้การแปลท่าทีของคนอื่นผิดเพี้ยนไป ทำให้เกิดความไม่ไว้ใจคนอื่น และมีพฤติกรรมในด้านลบ
  5. สมองส่วนความจำมีปัญหา ไม่จดจำในสิ่งที่ควรจำ แต่จำในสิ่งที่ไม่ควรจำอย่างความรู้สึกเลวร้ายที่ถูกทำทารุณมา

 

ปกป้องเด็ก ๆ ของเรากันเถอะ

  1. คุยกับลูกตั้งแต่เล็ก ให้เขาคุ้นเคยว่าเล่าหรือพุดคุยทุกสิ่งกับพ่อแม่ได้
  2. เวลาถามเรื่องโรงเรียน คุยเรื่องทั่ว ๆ ไปก่อน เช่น กลางวันกินอะไร เล่นอะไรบ้างวันนี้ ถามถึงเพื่อนลูก ฯลฯ
  3. ให้ลูกเล่าเรื่องที่เขาสนใจ สร้างบรรยากาศกันเอง ให้ความสนใจ มีอารมณ์ร่วมกับสิ่งที่ลูกเล่า ไม่ต้องซัก
  4. ถามถึงคุณครู ว่าสอนอะไรหรือทำกิจกรรมอะไรบ้าง คุณครูใจดีมั้ยวันนี้ ค่อย ๆ ถามลึกลงไปถึงรายละเอียด อย่าจู่โจม
  5. สังเกตความเปลี่ยนแปลงของลูก อารมณ์ พฤติกรรม ดูตามร่างกายมีแผลหรือรอยช้ำ
  6. พ่อแม่ผู้ปกครองควรสื่อสารกันสม่ำเสมอ มีกลุ่มโซเชียล ช่วยกันเป็นหูเป็นตา
  7. พ่อ ๆ แม่ ๆ ปรึกษาหารือร่วมกับโรงเรียนว่าจะมีมาตรการด้านความปลอดภัยของเด็กอย่างไรบ้าง

แม่แอร์อยากให้ทุกโรงเรียนเป็นที่ปลอดความรุนแรง เด็กได้เติบโตและเรียนรู้อย่างมีความสุข ขออย่าให้มีข่าวร้ายเกี่ยวกับเด็กอีกเลยค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิง

Exit mobile version