หมู่เลือด นอกจากหมู่เลือดที่เรารู้จักกันดีอย่าง A, B, AB, O แล้ว ยังมีอีกระบบหนึ่งคือระบบที่เรียกว่า Rh ค่ะ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควร ตรวจกรุ๊ปเลือด ดูว่า Rh เป็น Rh Negative (Rh-) หรือไม่ เพราะ Rh- มีความเสียงที่จะแท้งลูกสูงค่ะ
มารู้จักหมู่เลือดระบบ Rh กันค่ะ
หมู่เลือดระบบ Rh แบ่งเป็น Rh Positive (Rh+) และ Rh Negative (Rh-) ซึ่งคนที่มีเลือด Rh+ จะมีสารแอนติเจนดี (Antigen D) อยู่ที่ผิวเม็ดเลือด ส่วนคนที่มีเลือดเป็น Rh- จะไม่มีสารแอนติเจนดี ทำให้คนที่มีเลือดเป็น Rh- ไม่สามารถรับการถ่ายเลือดจากคนที่เป็น Rh+ ได้ จะรับการถ่ายเลือดได้จากเฉพาะคนที่มีเลือดเป็น Rh- ด้วยกันเท่านั้นค่ะ เนื่องจากร่างกายของคนที่มีเลือดเป็น Rh- จะสร้างภูมิต้านทาน (Antibody D) ขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่คนไทย 99.7% จะเป็นหมู่เลือด Rh+ มีเพียง 3 ใน 1,000 คน หรือ 0.3% เท่านั้น ที่เป็น Rh- และเป็นหมู่เลือดหายากของเมืองไทย
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ ที่มีเลือดเป็น Rh- ควรต้องรู้
หากคุณแม่มีเลือด Rh- แล้วฝ่ายคุณพ่อมีเลือด Rh+ แบบ 100% ไม่มียีนแฝง แน่นอนว่าลูกในท้องจะมีหมู่เลือดเป็น Rh+ ตามคุณพ่อ ซึ่งระหว่างการตั้งครรภ์ของคุณแม่ ก็มีโอกาสเกิดเหตุจนเลือดของลูกไหลผ่านรกเข้าไปในร่างกายของคุณแม่ได้ ทำให้ร่างกายของคุณแม่สร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ซึ่งภูมิต้านทานเหล่านี้จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกจนเกิดเป็นสารสีเหลือง ซึ่งปกติร่างกายของคุณแม่จะช่วยขับออกไปได้ แต่หากมีมากเกินไปสารสีเหลืองจะไปเกาะสมองของเด็ก ทำให้เด็กพิการได้
หากภูมิต้านทานคุณแม่มีมากจะเกิดโอกาสแท้งลูกได้ การรักษามี 2 ทางคือ
- ถ่ายเลือดให้ลูกในครรภ์ โดยให้เลือด Rh- แก่เด็ก
- การทำคลอดก่อนกำหนด
เมื่อคลอดออกมาแล้ว ไม่ว่าคลอดก่อนกำหนดหรือคลอดตามปกติ หากเด็กมีอาการตัวเหลือง ซึ่งเกิดจากสารสีเหลืองตกค้างในร่างกาย ต้องนำเข้าตู้ฉายแสงเพื่อกำจัดสารดังกล่าวค่ะ เพราะร่างกายของเด็กยังไม่สามารถขับออกเองได้เหมือนขณะอยู่ในท้องแม่
แต่อย่างไรก็ตาม การให้ยาเพื่อทำลายเม็ดเลือดแดงของลูกที่เข้าไปในร่างกายของคุณแม่ ปัจจุบันสามารถให้ยาดังกล่าวได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 8 เดือน เพื่อป้องกันการสร้างภูมิต้านทานในร่างกายคุณแม่ขึ้น ดังนั้น การฝากครรภ์ปัจจุบันจึงมีการบังคับให้คุณแม่ต้องตรวจเลือดและภูมิต้านทานเลือด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุลักษณะดังกล่าว และคุณแม่ตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์และตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยนะคะ