คุณลูกเอาแต่งอแง ไม่พอใจขึ้นมาอาละวาด ให้ทำอะไรปฏิเสธตลอด พูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คำแรกที่ขึ้นมาในหัวของคุณพ่อคุณแม่ก็คือดื้อใช่มั้ยคะ เมื่อก่อนแม่แอร์ก็คิดอย่างนี้ แต่จากการสังเกตลูกบวกกับการอ่านบ่อยเจอข้อมูลที่น่าสนใจว่าความจริงไม่ได้เป็นอย่างที่เราเข้าใจเสมอไปอย่าเพิ่งด่วนตัดสิน
การแสดงออกที่ผู้ใหญ่บอกว่าดื้ออาจเป็นเพราะเด็กเล็กไม่สามารถบอกความรู้สึกได้ดังใจตัวเองเพราะความสามารถในการใช้ภาษายังอ่อนพูดยังไม่คล่องคำศัพท์ก็น้อยยังใช้คำศัพท์ยากๆหรือคำซับซ้อนไม่เป็นทำให้มีปัญหาตอนแม่ถามอะไรแล้วตอบแบบคลุมเครือเวลาไม่สบายใจไม่สบายตัวหรือเจ็บป่วยลูกบอกความรู้สึกที่ชัดเจนกับเราไม่ได้ตัวเขาเองก็น่าจะอึดอึดขัดใจอาจแสดงออกในแบบที่มนุษย์แม่รู้สึกว่ามันไม่โอเคเลยนะคุณลูก
เพราะฉะนั้นแม่ ๆ เราคิดซะว่าลูกเป็นชาวต่างชาติเพิ่งเข้ามาเมืองไทย ปีสองปีแรกยังพูดกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คุณแม่จะได้ไม่ลมเสียบ่อย ฮ่า ๆ
เพิ่มทักษะการใช้ภาษาให้ลูก
เด็กที่สามารถบอกความรู้สึกได้แสดงออกเหมาะสมจะอารมณ์ดีมีความสุขกว่า เพราะอะไร ข้อแรกเลยไม่โดนดุหรือทำให้คุณแม่ลมเสียด้วยเรื่องขี้ปะติ๋ว พอเขาไปโรงเรียนเขาก็จะดูแลตัวเองได้ดีมีปัญหาอะไรก็บอกคุณครูได้ มีปัญหากับเพื่อนก็สื่อสารตรง ๆ ไม่ทะเลาะกัน
ถ้าลูกมีทักษะการสื่อสารความรู้สึกน้อยไปนิด ปัญหานี้มีทางแก้ คุณพ่อคุณแม่เองสามารถช่วยลูกพัฒนาทักษะการสื่อสารได้ อะไรก็ตามถ้าฝึกฝนก็จะเก่งขึ้นว่ามั้ยคะ การใช้ภาษาก็เหมือนกันเป๊ะ แล้ววิธีการก็ง่ายมาก
แม่แอร์รวบรวมข้อแนะนำในการฝึกคุณลูกมาฝากค่ะ
1.พูดกับลูกบ่อย ๆ พูดไปเถอะ เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้เขาฟัง เรื่องที่เด็กวัยเขาเข้าใจได้ คุยกับเขา ให้เขาเล่าให้ฟัง คุณพ่อคุณแม่ซักถามเขาให้ตอบ อาบน้ำแต่งตัวให้เขา ทำกับข้าว รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ พาไปเที่ยว กิจกรรมไหนก็ชวนคุยได้
2.ฟังลูกบ้าง ฟังก็สำคัญนะคะบางทีมนุษย์แม่เผลอพูดเยอะจนลืมสนใจฟังลูก การตั้งใจฟังเขาจะกระตุ้นให้เขาอยากพูดอยากสื่อสารกับเรา ถ้าไม่ค่อยสนใจฟังเขาจะรู้สึกว่าพูดไปแม่ก็ไม่ฟังเลยเงียบดีกว่า
3.เพิ่มคำศัพท์ โดยเฉพาะศัพท์ที่เกี่ยวกับความรู้สึก ดีใจ สนุก เสียใจ โกรธ กลัว เหงา เบื่อ เจ็บ ปวด ฯลฯ ด้วยการพูดให้ลูกฟังว่าเรารู้สึกอย่างไร เช่น แม่ดีใจจังหนูหม่ำข้าวเองได้ เมื่อกี้แม่เห็นเด็กหกล้มเขาน่าจะเจ็บมากนะร้องไห้ลั่นเลย ฯลฯ
4.สอนให้บอกระดับความรู้สึก มีประโยชน์เวลาซักถามความรู้สึกเมื่อเขาไม่สบายใจหรือถามอาการเจ็บป่วยของลูก ถ้าเขายังเล็กก็ให้ง่ายไว้ก่อน 2-3 ระดับพอ เช่น เจ็บมาก เจ็บปานกลาง เจ็บนิดเดียว อะไรทำนองนี้ ถ้าเขาโตขึ้นมาอีกหน่อยอาจให้เขาบอกระดับความรู้สึกด้วยตัวเลข 1-5 ก็ได้ค่ะ
5.สอนให้ลูกแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม อยากทำหรือไม่อยากทำอะไร ชอบใจ ไม่พอใจ หรือโกรธอะไรให้เลือกใช้คำพูดสื่อสารกับคุณแม่ ไม่ต้องงอแงหรืออาละวาด บอกให้ลูกรู้ว่าถ้าเขาบอกความรู้สึกได้พ่อแม่ก็จะช่วยเหลือเขาได้ โดยไม่ต้องทะเลาะกัน
6.เล่นคุยโทรศัพท์ การชวนลูกเล่นจะช่วยกระตุ้นให้เขาอยากสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น เพราะเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุก ซื้อโทรศัพท์ของเล่นหรือชวนเขาDIYโทรศัพท์ของเล่นจากกระดาษ โทรศัพท์ของจริงเราเก็บไว้สำหรับใช้งานค่ะ ให้เล่นของจริงคุณลูกอาจสับสนว่าเดี๋ยวให้เล่นเดี๋ยวไม่ให้เล่นยังไงกันแน่
7.เล่นสมมติ ชวนลูกเล่นสมมติเป็นตัวละครในนิทานในการ์ตูนที่ลูกชอบ ชวนเล่นเป็นคุณครู คุณหมอ คุณพยาบาล ทหาร ตำรวจ อาชีพอื่น ๆ หรือให้เขาสมมติว่าตัวเองเป็นใครก็ได้ที่เขารู้จัก คุณพ่อคุณแม่ช่วยสร้างเรื่องราวให้ลูกได้ใช้คำศัพท์เกี่ยวกับความรู้สึกระหว่างเล่น
8.ให้ลูกเล่านิทาน หรือเล่านิทานให้ลูกฟัง แล้วพูดคุยซักถามเกี่ยวกับความรู้สึกของตัวละคร บางทีคุณพ่อคุณแม่อาจจะเป็นคนพูดว่าถ้าคุณแม่เป็นตัวละครตัวนั้นจะรู้สึกยังไงหรือถามลูกว่าถ้าเขาเป็นตัวละครนั้นเขาจะรู้สึกยังไง
9.ให้ลูกเล่าให้ฟัง ว่าตอนที่คุณพ่อคุณแม่ไม่อยู่เขาทำอะไรบ้าง หรือตอนเขาไปโรงเรียนเป็นยังไงบ้าง ให้ลูกรู้สึกว่าเราตื่นเต้นอยากรู้ไม่ใช่ซักถามแบบคาดคั้น อย่างนี้คุณลูกหมดมู้ดตอบนะคะ
10.เล่นเกมเล่าจากภาพ คุณพ่อคุณแม่ตัดภาพจากนิตยสารหรือพรินต์จากเน็ตก็ได้ค่ะ เลือกภาพหลาย ๆ แบบ เปิดภาพไหนขึ้นมาให้เล่าว่ามีอะไรในภาพบ้าง บอกสีสัน รูปทรง ขนาด แล้วเล่าเสริมเติมแต่งตามจินตนาการ คอยหยอดคำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกอธิบาย
11.เล่นเกมแอคชั่น หาภาพคนแสดงสีหน้าต่าง ๆ หลาย ๆ แบบ ตัดเก็บไว้ ถ้าใครเปิดภาพไหนขึ้นมาให้แสดงสีหน้าเหมือนในภาพ ให้คนอื่นทายว่ากำลังแสดงสีหน้าแบบไหน
12.พาเที่ยวพาคุย เวลาพาลูกออกกไปเที่ยวนอกบ้าน เที่ยวสวนสาธารณะ สวนสนุก เที่ยวทะเล ชวนชมธรรมชาติในสวนหลังบ้าน หรือไปร้านอาหาร ฯลฯ ชวนเขาดูสิ่งรอบตัว ดูนก ดูต้นไม้ หรือบรรยากาศในร้าน ชวนคุยในสิ่งที่เขาเห็นหรือสนใจ ถามความเห็นความรู้สึกของเขาบ้าง
สอนคุณลูกฝึกวิชาสำเร็จเมื่อไหร่แม่แอร์กลัวว่าจะพูดจ๋อยๆไม่หยุดอะจิ