ปัญหาการกินยาก เลือกกินของเด็กเป็นปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวมาทุกยุคทุกสมัยนะคะ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยหาวิธีการรับมือให้ได้ พฤติกรรมเหล่านี้อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวก็ได้ เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่จะเป็นห่วงว่าลูกทานได้น้อย จะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จะกลายเป็นเด็กขาดสารอาหาร รูปร่างเล็กกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
ลูกตัวเล็ก กินยาก เสี่ยง!! ขาดสารอาหาร
“เด็กตัวเล็ก กินยากช่างเลือก” ที่คุณพ่อคุณแม่เป็นกังวลนั้น ในทางวิชาการหมายถึง เด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน ที่มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมเลือกรับประทานอาหารเป็นบางประเภท ไม่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย ได้แก่สารอาหารจำพวก โปรตีน วิตามิน A B C D E ไอโอดีน แคลเซียม สังกะสี และธาตุเหล็ก ส่งผลให้ลูกเป็น “เด็กตัวเล็ก” น้ำหนักค่อนข้างน้อย
เรื่องจริงหรือแค่กังวล??? ลูกเรา “ตัวเล็กน้ำหนักน้อย” หรือเปล่านะ?
ลูกของเรามีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่? คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากกราฟน้ำหนักและส่วนสูงเมื่อเทียบกับอายุที่แนบอยู่ในสมุดวัคซีนของลูก ถ้าน้ำหนักของลูกต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยกลาง(เส้นเปอร์เซ็นไทล์ที่ 50) หมายความว่า ลูกมีน้ำหนักต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กในวัยเดียวกัน เป็นไปได้ว่าลูกอาจจะเข้าข่ายเด็กตัวเล็ก น้ำหนักน้อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ หนึ่งในนั้นอาจเกิดจากพฤติกรรม “กินยาก ช่างเลือก” ลูกกินยากช่างเลือกอาจเสี่ยงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
ปัญหา “เด็กกินยากช่างเลือก” จากการศึกษาและสำรวจพบว่า เกิดขึ้นได้ในเด็กทุกวัย ซึ่งสามารถแก้ไขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในเด็กอายุระหว่าง 1-3 ปี เพราะคุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือได้ง่ายมากกว่าที่จะปรับเปลี่ยนในเด็กที่โตแล้ว
แม่จ๋า…อย่าเครียด
“ลูกกินยาก ช่างเลือก” ปรับเปลี่ยนได้!
ปัญหาที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่ปวดหัวมาทุกยุคทุกสมัย คือปัญหา “ลูกกินยาก ช่างเลือก” ที่ต้องคอยหาวิธีรับมือกับเจ้าตัวน้อยตลอดเวลา เด็กบางคนเลือกที่จะไม่กินผักเพราะคิดว่าขม แต่เด็กบางคนเลือกที่จะไม่กินเนื้อสัตว์เพราะเหนียว เคี้ยวยาก หรือไม่คุ้นเคย เด็กบางคนชอบกินของทอด หรือกินแต่ขนมขบเคี้ยวโดยไม่สนใจอาหารจานหลัก พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นห่วง และวิตกกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จึงคะยั้นคะยอหรือบังคับให้ลูกรับประทานอาหารให้หมด ส่งผลให้ลูกเกิดความเครียดเมื่อถึงเวลาอาหารแต่ละมื้อ แต่เราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านั้นของลูกได้ หากทุกคนในครอบครัวให้ความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกัน
6 ที่สุดเส้นทางสวมวิญญาณเชฟกระทะเหล็ก
คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสังเกตชนิดอาหารที่ลูกชอบและไม่ชอบ ซึ่งอาจเกิดจาก รสชาติ สี กลิ่น หรือสัมผัส รวมทั้งบันทึกว่า อาหารประเภทไหนที่อยากให้ลูกลองทานหรือเลิกทาน
1) เป็นนักชิมเพื่อลูก คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงสีหน้าเอร็ดอร่อย พร้อมแสดงความชื่นชอบเมนูนั้นๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากกินด้วย นั่นคือ ‘อยากให้ลูกกินอะไร พ่อแม่กินด้วย’
2) ตอบโจทย์รสชาติอันคุ้นเคย การเปรียบเทียบรสชาติกับอาหารที่ลูกรู้จักและคุ้นเคย จะทำให้ลูกเข้าใจในรสชาติอาหารง่ายขึ้น เช่น อาหารจานนี้มีรสชาติหวานเหมือนช็อกโกแลต หรือพูดถึงประโยชน์ เช่น รับประทานแล้วร่างกายจะแข็งแรง รวมถึงให้ลูกมีส่วนร่วมในการปรุงอาหาร ก็จะช่วยให้ลูกกล้าลองเมนูใหม่ๆ มากขึ้น
3) กดดันไปก็ไร้ประโยชน์ ไม่ควรใช้ความกดดัน บีบบังคับให้ลูกกินเมนูอาหารที่ไม่เคยกิน เพราะหากประสบการณ์แรกแย่ ลูกก็จะไม่อยากกินอีกต่อไป และเกิดพฤติกรรมต่อต้านการกินในมื้อถัดๆ ไปได้
4) เปลี่ยนคำหลอกเป็นคำชม คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการหลอกให้กลัว เช่น ไม่กินเดี๋ยวตำรวจจับนะ แต่ควรให้รางวัล ปรบมือ ลูบหัวหรือกล่าวชม เมื่อลูกกล้ากินเมนูใหม่ๆ เช่น ‘เก่งจัง กินผักเป็นด้วย’
5) เลือกที่รัก จัดที่ชอบ ควรจัดเมนูที่ลูกชอบผสมเข้ากับเมนูใหม่ ซึ่งจะทำให้ลูกกล้าลองและยอมรับเมนูอาหารใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้น อาจเพิ่มความน่าสนใจด้วยท็อปปิ้ง เช่น ชีส ซอสมะเขือเทศ น้ำจิ้ม หรือเพิ่มเติมผักต่างๆ ที่ลูกชอบ
6) สวมวิญญาณเชฟกระทะเหล็ก ปรับหน้าตาอาหารที่ลูกไม่เคยกินให้เป็นแบบที่ลูกชอบ เช่น ลูกไม่ชอบความหยุ่นของเต้าหู้ คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องทอดให้กรอบ เพื่อเปลี่ยนเป็นเนื้อสัมผัสที่ลูกคุ้นเคย หรือให้ลูกร่วมเป็น ‘เชฟกระทะหลุด’ ไปด้วยกัน ทำให้คุณพ่อคุณแม่มีช่วงเวลาดีๆ ที่จะได้สนุกสนานไปพร้อมกันกับลูก และจะยิ่งช่วยกระตุ้นให้เค้าอยากลองชิมอาหารที่เค้าทำอีกด้วย
มีเวลาน้อย…เรื่องเล็ก เพราะลูกตัวเล็ก…เรื่องใหญ่
- ตกแต่งอาหารให้ดูน่ากินขึ้น มีสีสันสวยงาม หรือตกแต่งด้วยตัวการ์ตูน อาจใช้ภาชนะลายน่ารักๆ และกระตุ้นให้ลูกอยากทานอาหารด้วยการเล่นเกมมองหาตัวการ์ตูนที่ก้นชามข้าว เป็นต้น
- ทานอาหารพร้อมหน้ากันกับคนในครอบครัว เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศในการรับประทานอาหารที่สนุกสนานและอบอุ่น
- ตัดสิ่งรบกวนหรือหันเหความสนใจของลูกขณะกินข้าว เช่น ทีวี แท็บแล็ต รวมถึงไม่ควรให้ลูกเดินเล่นไปด้วยขณะป้อนข้าว
- กำหนดระยะเวลาในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อให้ชัดเจน ถ้าหมดเวลาก็ควรเก็บอาหารทันที ให้ลูกเรียนรู้ว่าควรกินข้าวให้อิ่มในเวลานั้นๆ ไม่อย่างนั้นจะต้องทนหิวและรอมื้อถัดไป
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม “กินยาก ช่างเลือก” ของลูกจะเกิดขึ้นได้ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ร่วมกันปรับพฤติกรรมของลูกอย่างจริงจัง โดยอาจหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตอบข้อสงสัยให้กับตนเอง รวมถึงปรึกษานักโภชนาการหรือกุมารแพทย์ หรือเข้าร่วมเวิร์กช็อปต่างๆ
สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเริ่มใส่ใจกับทุกขั้นตอนในการรับประทานอาหารของลูก ตั้งแต่การเข้าใจอุปนิสัยของลูก การเลือกเมนูอาหารและวัตถุดิบ การจัดวางอาหาร และภาชนะที่ดึงดูดความสนใจ เพื่อให้ลูกจะได้มีความสุขกับการกินเมนูใหม่ๆ ทั้งหมดนี้คุณพ่อคุณแม่อาจต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก แต่ก็ไม่ยากจนเกินไปที่จะทำให้เห็นผลลัพธ์ตามต้องการ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้กำลังใจกันและกัน ประเมินกลยุทธ์ของตัวเองว่าควรปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง ให้ทันกับความชอบของลูก และอย่าเป็นกังวลจนเกินไป เพราะจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เครียดจนเผลอกดดันกับลูก และอาจจะส่งผลกระทบต่อสัมพันธภาพระหว่างกัน จนทำให้ครอบครัวไม่มีความสุขได้
ค้นหากลเม็ดเด็ดต่อกรลูกตัวเล็ก กินยาก ช่างเลือกกับเราได้ที่